Bangpakok Hospital

ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วป้องกันการติดเชื้อโควิดจริงหรือไม่

7 พ.ค. 2564


 
           

หากพูดถึงภาพรวมของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแล้ว จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ และ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่มีอาการ

ตามข่าวที่รายงานถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามักเห็นกันส่วนใหญ่แล้ว เช่น วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิภาพโดยรวมร้อยละ 95 เป็นต้น กรณีนี้จะหมายถึงประสิทธิภาพของการป้องกันโรคที่มีอาการ ในขณะที่การศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันโรคแบบไม่มีอาการนั้นยังบอกได้เพียงแนวโน้ม และส่วนมากยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด

จึงสรุปได้ว่า ในปัจจุบัน วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ผู้เข้ารับการฉีดจึงยังอาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้อยู่ เพียงแต่วัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตได้

วัคซีนโควิด 19 ทั้ง 4 ชนิดหลัก

วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลัก ๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้แก่

  1. วัคซีนโควิด 19ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบล่า สำหรับกรณีโควิด 19 นี้ วัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัสชนิดนี้ แล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมาปัจจุบันมีสองเจ้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือ BioNTech/Pfizer และ Moderna

 

  1. วัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines) โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ (ไม่ทำให้เราป่วย) หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก แล้วตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ โดยฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา วัคซีนประเภทนี้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการติดเชื้อตามธรรมชาติวัคซีนของ Johnson & Johnson และ Oxford – AstraZeneca รวมถึงวัคซีน Sputnik V ก็ใช้เทคนิคดังกล่าวนี้

 

  1. วัคซีนโควิด 19 ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein-based vaccines) จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา เทคนิคนี้ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบีบริษัทผลิตวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว เช่น Novavaxเป็นต้น

 

  1. วัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccines) จะผลิตจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ (ชนิดฉีด) มาแล้ว แต่เพราะต้องทำในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ทำให้ผลิตได้ช้า และมีต้นทุนการผลิตที่สูงสำหรับวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว ได้แก่ Sinovacและ Sinopharm


วัคซีนโควิด 19 ที่น่าสนใจในปัจจุบันมียี่ห้ออะไรบ้าง

บริษัทหรือวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติและใช้กันแล้วในหลายประเทศ ได้แก่ Pfizer-BioNTech, Moderna, Gamaleya (Sputnik V), AstraZeneca, Sinovac, และ Sinopharmเป็นต้น โดยมีทั้งชนิดที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์และชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน

 ตารางแสดงข้อมูลของวัคซีนโควิด 19 แต่ละบริษัท (อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2564)


 
ข้อสังเกตเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ในปัจจุบัน

  • ประสิทธิภาพป้องกันอาการรุนแรง จำเป็นที่สุด:แน่นอนว่า ใครก็อยากได้วัคซีนโควิด 19 ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการป้องกันโรค แต่ที่มีความสำคัญเร่งด่วนยิ่งกว่า คือการลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การลดโอกาสมีอาการความรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อ เพราะช่วยให้ผู้ป่วยโควิด 19 สามารถแยกกักตัวและดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • ฉีดครั้งเดียว สะดวกกว่า: Johnson & Johnson และ CanSino Biologics เป็นวัคซีนที่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากไม่ต้องฉีดถึง 2 เข็ม คนไข้ไม่ต้องกลับมาฉีดอีกเป็นเข็มที่สอง
  • วัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA: เป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคแบบใหม่ มีจุดเด่นในการผลิตได้ง่ายและเร็ว และยังสะดวกในการปรับปรุงเพื่อรองรับสายพันธุ์ของไวรัสได้อีกด้วย แต่โดยทั่วไปแล้ว วัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA จะมีข้อจำกัดในการจัดเก็บและขนส่งมากกว่าวัคซีนชนิดอื่น เนื่องจาก mRNA มักจะถูกทำลายได้ง่าย จึงต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิที่ต่ำมาก โดยเฉพาะวัคซีนของ Pfizer ที่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิต่ำถึง -70 ˚C

เมื่อเทียบในวัคซีนโควิด 19 ประเภทเดียวกัน วัคซีนของบริษัท Modernaดูจะยุ่งยากในการจัดเก็บน้อยกว่า เพราะสามารถเก็บ
ในอุณหภูมิ 2 – 8 ˚Cได้ (แต่จะมีอายุได้ 30 วัน)

  • วัคซีนโควิด 19 ที่มีความปลอดภัยต่อผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง:วัคซีนอย่าง Novavaxที่ผลิตขึ้นจากโปรตีนบางส่วนของเชื้อ และวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเชื้อที่ตายแล้ว อย่างเช่น Sinovac, Sinopharm, และ Covaxinมีความปลอดภัยต่อผู้รับวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมากกว่า เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • วัคซีนที่มีต้นทุนการผลิตสูง:วัคซีนประเภทเชื้อตายนั้น ต้องมีการเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง (Biosafety level 3) จึงมีต้นทุนสูงกว่าเพื่อน และอาจมีราคาสูงตามไปด้วย เช่น Sinopharmที่มีการประกาศราคาเบื้องต้นสูงกว่าวัคซีนหลายบริษัท

ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนโควิด 19 ที่พบ

ผลข้างเคียงรุนแรง

มีรายงานพบผู้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นบ้าง ได้แก่

  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
    – กรณีของ AstraZeneca: สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ว่าวัคซีน AstraZeneca อาจเชื่อมโยงกันกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภายหลังจากที่พบว่า ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีรายงานผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม หากเทียบสัดส่วนประชากรที่รับการฉีดแล้ว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก และเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้เข้ารับการฉีดจะลดโอกาสเสียชีวิตจากโควิด 19 แล้ว ยังถือว่ามีประโยชน์กว่า

    มีคำแนะนำสำหรับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนตัวนี้ว่า หากมีอาการปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ขาบวม ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

    – กรณีของ Johnson & Johnson:พบว่ามีผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ตัวนี้แล้วเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังได้รับวัคซีนของ J&J ไปประมาณ 1 สัปดาห์ (ไม่เกิน 3 สัปดาห์) ทำให้บางประเทศตัดสินใจยุติการใช้วัคซีนของ J&J 
   
มีผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ อีกหรือไม่?
AstraZeneca: นอกจากประเด็นเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันแล้ว มีรายงานว่า วัคซีน AstraZeneca ทำให้เกิดผลข้างเคียงระดับรุนแรงลักษณะอื่น ๆ ได้ เช่น เป็นไข้สูงกว่า 40 ˚C และพบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการไขสันหลังอักเสบหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สอง

 

– BioNTech/Pfizer: รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 4.7 คน และในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบผู้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

– Moderna: รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 2.5 คน และตอนนี้ ในสหรัฐอเมริกายังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการฉีดวัคซีน

 

– Sinovac, Novavaxและ Sputnik V: จากการศึกษาในเฟสที่ 3 ยังไม่พบรายงานว่ามีผู้ที่เกิดอาการข้างเคียงร้ายแรง

แม้จะพบว่าวัคซีนโควิด 19 หลายตัวอาจพบกรณีที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับการฉีดทั้งหมด และแม้ว่าจะมีรายงานเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลก ยังคงสนับสนุนให้เดินหน้าฉีดวัคซีนดังกล่าวอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว การให้ฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์มากกว่าการระงับใช้ไปเลย

อาการข้างเคียงแบบไม่รุนแรงหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่พบได้บ่อย

  • อาการปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดที่ฉีดยา
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดหัวเล็กน้อย
  • มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ
  • มีอาการคลื่นไส้


กรณีของวัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA พบว่า เข็มที่ 2 มีแนวโน้มอาการข้างเคียงรุนแรงมากกว่าเข็มแรก แตกต่างจากวัคซีนประเภท viral vector ที่เข็มที่สองมักจะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเข็มแรก

ในประเทศไทยโดยภาพรวมแล้ว พบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนบ้าง* แต่พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ในสัดส่วนที่น้อยมาก และเป็นผลข้างเคียงชนิดที่ไม่รุนแรง โดยส่วนมากสามารถหายได้เองหลังฉีดวัคซีนประมาณ 2 – 3 วัน อย่างไรก็ตาม

*เนื่องจากในประเทศไทยมีรายงานผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinovacแล้วมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทชั่วคราว คงต้องรอข้อมูลยืนยันสาเหตุที่แน่ชัดก่อน ทั้งนี้ ควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

 
อาการข้างเคียงแบบไหน ห้ามฉีดเข็มที่ 2 ต่อ
มีข้อแนะนำว่า ห้ามรับการฉีดเข็มที่ 2 ต่อ หากมีอาการแพ้วัคซีนโควิด 19 ทันทีหลังได้รับการฉีด ดังนี้

 

  • คัน เป็นผื่นแดง หรืออาการลมพิษ
  • ปาก ลิ้น หน้า หรือคอบวม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เวียนศีรษะ วูบ ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจติดขัด หอบเหนื่อย คัดจมูก
  • พูดลำบาก


วัคซีนโควิด
19 ในประเทศไทยมีกี่ยี่ห้อ ใช้เทคนิคอะไรในการผลิต

สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณารับวัคซีนสำหรับประเทศไทยนั้น จะเน้นพิจารณารับวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้อง รวมถึงมีการอนุมัติใช้แล้วในหลากหลายประเทศและได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลกแล้ว


สำหรับวัคซีนโควิด 19 ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย (อัปเดตล่าสุด 21 เมษายน 2564) ได้แก่ วัคซีนโควิด 19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และ วัคซีนโควิด 19 ซิโนแวค (Sinovac)

 \

  1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca) เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector สำหรับฉีดในแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (แต่ในประเทศไทยใช้ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยจะฉีดบริเวณต้นแขนทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ฉีดแต่ละเข็มห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์ (ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมากฉีดวัคซีนดังกล่าว)
  2. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย สำหรับฉีดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 59 ปี โดยจะฉีดบริเวณต้นแขนทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ฉีดแต่ละเข็มห่างกัน2 – 4 สัปดาห์ ยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรง ให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ 

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเร่งติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นเพิ่มเติม และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจา ซึ่งเมื่อไรที่เราสามารถสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาได้หลากหลายยี่ห้อมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการรับการฉีดวัคซีนให้กับเรามากขึ้น

 

 ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด 19 จะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด

ปัจจุบัน เรายังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส ทุกคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ยังมีโอกาสติดเชื้อได้จากหลายปัจจัย เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัส หรือบางคนอาจจะยังไม่ทันที่วัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายได้ก็มาสัมผัสเชื้อเสียก่อน ก็มีโอกาสติดเหมือนกัน

แต่เบื้องต้น การศึกษาของสถาบันวิจัยด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ลา จอลลา (La Jolla Institute for Immunology) พบว่าวัคซีนสามารถช่วยป้องกันโรคได้อีกอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน นอกจากนี้ ยังไม่ทราบว่าเกิดภูมิคุ้มกันได้อีกนานถึงเมื่อไร แต่ก็มีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 เข็ม (หรือตามโดสที่แนะนำ) เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย


ใครที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด
19 กลุ่มไหนมีโอกาสได้รับก่อน

เนื่องจากวัคซีนในไทยตอนนี้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่ากลุ่มใดควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน เมื่อพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา มีข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจ คือ

  • เมื่อผู้ป่วยอายุเพิ่มขึ้น จะมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต มักมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรคขึ้นไป เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไตเรื้อรัง และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ประกอบกับจุดประสงค์หลักที่ต้องการลดความรุนแรงของอาการ ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มเสี่ยง และลดอัตราการเสียชีวิต ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิได้รับวัคซีนก่อน ตามมติอนุคณะกรรมการอำนวยการการใช้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่มีภาวะเรื้อรังต่าง ๆ หรือโรคในกลุ่มเสี่ยงได้แก่
    1 โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
    2.2 โรคหัวใจและหลอดเลือด
    2.3 โรคไตเรื้อรัง
    2.4 โรคหลอดเลือดสมอง
    2.5 โรคมะเร็งทุกชนิด
    2.6 โรคเบาหวาน
    2.7 โรคอ้วน (อัปเดต1 พฤษภาคม 2564)
  3. ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป
  4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ
ทั้งนี้ หากวัคซีนมีปริมาณมากขึ้นแล้ว จะพิจารณาฉีดให้กับประชาชนทั่วไป


คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม หรือขณะให้นมลูกฉีดวัคซีนได้ไหม

คุณผู้หญิงหลายท่านที่กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก น่าจะกังวลใจไม่น้อย ว่าตัวเองและลูกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 แต่ครั้นจะไปรับวัคซีน ก็ไม่แน่ใจอีกว่าจะมีผลกระทบอะไรกับลูกน้อยหรือไม่

หากพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีโอกาสไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ การเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จะมีประโยชน์มากกว่า และควรฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายเพื่อความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง แนะนำว่ายังไม่จำเป็นต้องไปฉีดวัคซีนโควิด 19 และควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินระหว่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นหากติดเชื้อ กับอาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีนก่อนตัดสินใจ

ใครอีกบ้างที่ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19

 

เด็ก: สำหรับเด็ก ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนในปัจจุบันได้รับรองให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ยกเว้นวัคซีนของ Pfizer-BioNTechที่รองรับให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นเด็ก มักจะมีอาการไม่รุนแรง

กลุ่มที่ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์อย่างใกล้ชิด

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาการยังไม่คงที่ และอาการเข้าขั้นวิกฤต
  • ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง
  • ผู้ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (warfarin)

ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่า ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว เพื่อให้แพทย์พิจารณาให้ฉีดวัคซีนเป็นรายบุคคลตามความจำเป็นเร่งด่วนและความเหมาะสม

วิธีการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19

หลังจากที่เราทำความรู้จักกับวัคซีนแต่ละชนิด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ครบถ้วนแล้ว หากพิจารณาว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มที่ควรรีบเข้ารับการฉีด ก็สามารถลงทะเบียนเพื่อรอรับการฉีดวัคซีนได้เลย 

 

สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

  1. รพ.ที่ท่านรักษาอยู่/ สถานพยาบาลใกล้บ้าน
  2. รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต)/ อสม.
  3. เพิ่มเพื่อนไลน์ “หมอพร้อม”

เริ่มลงทะเบียน 1 พฤษภาคม 2564 สำหรับ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง* 
*โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
เริ่มลงทะเบียน 1 กรกฎาคม 2564 สำหรับ ประชาชนทั่วไป อายุ 18-59 ปี


เมื่อพร้อมเข้ารับวัคซีน ให้ใช้หมอพร้อม

“หมอพร้อม” เป็นระบบที่มีการเชื่อมต่อโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่รับฉีดวัคซีนโควิด 19 กว่า 1,500 แห่ง ซึ่งสามารถแสดงผลได้แบบ real-time นอกจากนี้ ยังมีระบบจำแนกประชาชนโดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามความเสี่ยง เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการรับวัคซีนของประชาชนทั่วประเทศ

หากเป็นกลุ่มเป้าหมายการรับวัคซีนกลุ่มแรก ระบบของเราก็จะถูกบันทึกไว้ในระบบหมอพร้อมอยู่แล้ว สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เราสามารถเข้าไปเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการฉีดวัคซีนได้เลย ซึ่งหมอพร้อมจะมีระบบนัดหมายและแจ้งเตือนให้เข้ารับการฉีด โดยเฉพาะการแจ้งเตือนในกรณีที่ต้องฉีด 2 ครั้ง

 


วิธีการลงทะเบียนหมอพร้อม

อัปเดตข้อมูล วันที่ 6 พฤษภาคม 2564

  1. เข้าไปที่ LINE Official Account ในชื่อบัญชีหมอพร้อม” 
  2. เพิ่มเพื่อนในไลน์
  3. ลงทะเบียน โดยกรอกข้อมูลส่วนตัวตรวจสอบข้อมูล และกด “บันทึก” จากนั้นระบบจะแสดงหน้าจอลงทะเบียนสำเร็จ
  4. (กรณีลงทะเบียนให้สมาชิกในครอบครัว) ไปที่หน้าต่าง “แก้ไขข้อมูลส่วนตัวและบริการอื่น ๆ”แล้วกด “เพิ่มบุคคลอื่น” และ “ระบุความสัมพันธ์” และกรอกข้อมูลส่วนตัว และกด “บันทึก” จากนั้นระบบจะแสดงหน้าจอลงทะเบียนสำเร็จ
  5. จองวัคซีนโดยกดเมนู “จองฉีดวัคซีนโควิด 19” กด “จอง” กด “รับสิทธิ์” และทำแบบคัดกรองก่อนรับวัคซีน กด “บันทึก” จากนั้นตรวจสอบแบบคัดกรอง และกด “ยินยอม” และกดเลือกจังหวัด โรงพยาบาล วันที่ และเวลาที่ต้องการไปฉีดวัคซีน กด “ยืนยัน” จากนั้นระบบจะแสดงหน้าจอจองวัคซีนสำเร็จ
  6. สามารถค้นหาหน่วยงานที่ให้บริการวัคซีนได้

ข้อมูลที่ต้องแจ้ง ก่อนรับการฉีดวัคซีน

  • ประวัติแพ้ยา วัคซีน อาหาร และสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต
  • กรณีมีไข้เกิน 38 ˚C ต้องแจ้งทุกครั้ง
  • มีการใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  • มีรอยช้ำ หรือรอยเลือดเป็นจ้ำ ๆ หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • เป็นผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออยู่ระหว่างใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • มีอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก (ทุกกรณี)
  • วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์อยู่
  • อยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • มีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น มีไข้เล็กน้อย


ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน

หากมีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน หรือมีอาการแพ้รุนแรงหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก ห้ามเข้ารับการฉีดวัคซีน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

รอ 30 นาทีหลังฉีด อย่าพึ่งไปไหน: เนื่องจากการแพ้รุนแรงเกือบทุกกรณี มักเกิดขึ้นภายใน 15-30 นาทีหลังจากได้รับวัคซีน จึงมีข้อปฏิบัติว่า จะต้องนั่งรอภายในสถานที่ฉีด ประมาณ 30 นาที หลังการเข้ารับวัคซีน

แม้ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตัวเช่นเดิม: ผู้ได้รับวัคซีนแล้ว ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด 19 ไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป ได้แก่ การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ การรักษาระยะห่าง การสวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่ไปยังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

เข้ารับการฉีดให้ครบตามโดสที่แนะนำ เคยฉีดยี่ห้อไหน ให้ฉีดยี่ห้อนั้น: เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาผลข้างเคียงหรือประสิทธิภาพของการรับวัคซีนต่างชนิดกัน และมีข้อแนะนำให้ฉีดให้ครบถ้วนตามโดสที่กำหนดเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรค
Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.